ขายเสื้อยืด ป้องกันประเทศ
หลังจากนั้นโรงงานผลิตเสื้อของ “แตงโม” ดำเนินธุรกิจติดต่อกับต่างประเทศมาตลอด รับออร์เดอร์จากต่างประเทศถึง 30 เปอร์เซ็นต์ของยอดขาย กระทั่งรู้วิธีทำงาน รู้แพตเทิร์น รู้กระบวนการขายของเขา สุดท้าย คุณอดิศรตัดสินใจเลิกรับออร์เดอร์จากต่างประเทศ เพราะเกิดเหตุการณ์สร้างความช้ำใจให้เขาอย่างไม่เคยรู้สึกมาก่อน
“ตอนนั้นผมไปเจอรุ่นน้องคนหนึ่ง เขาไปซื้อเสื้อยี่ห้อดังของนิวยอร์ก ตอนนั้นดอลลาร์สหรัฐ แลกเงินไทยได้ 25 บาท เขาไปซื้อเสื้อยืดมาตัวละ 1,800 บาท ประมาณ 70 เหรียญ ผมบอกเขาไปว่ารู้มั้ยเสื้อที่ซื้อมานั้น ข้าเย็บเองตัวละ 7 เหรียญ แล้วไปขายตัวละ 70 เหรียญ มันต่างแค่ชื่อยี่ห้อเท่านั้นเอง” คุณอดิศร เล่าอย่างนั้น
เจ้าของกิจการ “แตงโม” เล่าอีกว่า ช่วงปี 2539-2540 สินค้าของเขาวางขายอยู่ในห้างสรรพสินค้า ประมาณ 40 จุด แต่มีที่ทำกำไรได้เพียง 8 จุด นอกนั้นขาดทุนหมด จึงกลับมานั่งพิจารณาว่าความมั่นคงของธุรกิจอยู่ที่ตรงไหน เพราะหากขายได้น้อยลง ทางห้างต้องบังคับให้เพิ่มยอดขาย ถ้าเพิ่มไม่ได้ ต้องย้ายไปอยู่ทำเลเกรดบี และถ้ายังลดลงอยู่อีก อาจต้องย้ายไปอยู่ทำเลเกรดซี หรือไม่ก็ต้องออกจากห้างไป ฉะนั้น ชีวิตของคนทำเสื้อผ้าขายในห้าง จึงขึ้นอยู่กับคน 4-5 คนเท่านั้น ที่กุมชะตาชีวิตธุรกิจของเราไว้
“ที่ตัดสินใจยกเลิกช่องทางจำหน่ายในห้าง เพราะวิเคราะห์แล้วพบมีแต่คนที่เก่งกว่า ใหญ่กว่าทั้งนั้นเลย ถ้ามาเจาะตลาดโบ๊เบ๊หรือประตูน้ำ คนเก่งกว่ามีไม่มาก เราพอจะยืนได้ แต่ในอดีต ถ้าจะไปที่โบ๊เบ๊ ประตูน้ำ จะหาเสื้อผ้าดีๆ ไปขายตามตลาดทั่วประเทศ หาไม่ได้ มีแต่ราคาถูก และไปชนกันตามงานวัด”
“เลยคิดว่า ถ้าอย่างนั้นอยากให้คนไทยจะได้ใส่ของดีบ้าง จึงตัดสินใจลง 2 ตลาด คือค้าส่งและคู่ค้ารับไปขายต่อ ซึ่งปัจจุบันมีคู่ค้าทั่วประเทศ อยู่ราว 2,200 ครอบครัว ซึ่งผมรู้สึกดีใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน” คุณอดิศร บอกก่อนยิ้มภูมิใจ
มาถึงคำถามเกี่ยวกับปรัชญาของ “แตงโม” ที่ต้องการสร้างคู่ค้าเหมือนขายเสื้อยืดป้องกันประเทศ เจ้าของเรื่องราวในครั้งนี้ มีคำอธิบายว่า ปัจจุบัน วงการสิ่งทอโดนรุก ถนนสายสุขุมวิท มีเสื้อผ้าแบรนด์ไทยไม่ถึง 20 เปอร์เซ็นต์ นอกนั้นเป็นของนอกล้วนๆ เมื่อหันมาดูที่ตลาดโบ๊เบ๊หรือประตูน้ำ เสื้อผ้าที่ราคาต่ำกว่า 100 บาท ลงมา ตลาดจีนรุกเข้ามาเรื่อย ตลาดไทยค่อยๆ ย้ายออกไปทีละห้องสองห้องทุกวัน
“ทีนี้เราจะทำยังไงให้คนไทยมีธุรกิจสิ่งทออยู่ จึงตั้งเป็นป้อมปราการ ผลิตเสื้อขึ้นมาให้คนแต่ละจังหวัดขายได้ ยกตัวอย่าง ให้คนหนองคายมีวิชาที่จะขายเสื้อผ้า เราใช้ความน่าเชื่อถือที่แตงโมสั่งสมมากว่า 20 ปี เป็นตัวที่จะให้เขาเลือกเรามากกว่า ตรงนี้เป็นความตั้งใจอันหนึ่ง”
“สมมติต่างชาติโจมตีได้จริง ทั้ง 2,200 ครอบครัว ที่เป็นคู่ค้าของแตงโม ไม่รู้จะไปทำอะไร แสดงว่าปราการทางธุรกิจนี้ถูกตีแตกไปแล้ว จึงอยากให้คนไทยช่วยกัน ใช้ของไทย” คุณอดิศร ทิ้งท้ายน่าคิด